"งานออกแบบลานจอดรถข้างอาคาร Kommon"  เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสร้างอาคาร Kommon Co-Working Space  เนื่องจากพื้นที่อาคารเดิม ไม่ได้มีการจัดพื้นที่จอดรถรองรับการใช้งานมากนัก เพราะพื้นที่มีจำกัด ในการปรับปรุงพื้นที่ด้านข้างอาคารให้เป็นลานจอดรถ รองรับรถยนต์ได้จำนวน 13 คัน จักรยาน 18 คัน และจักรยานยนต์ 21 คัน รวมถึงมีพื้นที่ด้านหลังเป็นพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ในพื้นที่ประมาณ 900 ตารางเมตร กว้างประมาณ 25 เมตร ยาวประมาณ 36 เมตร

ก่อสร้างโดยสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นแนวคิดของทางผู้อำนวยการสำนักงานฯ คุณยรรยง อัครจินดานนท์ ร่วมกับฝ่ายวิศวกรรมของสำนักงานฯ ในการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่เดิม

สภาพพื้นที่เดิม เป็นจุดจอดรถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน เพื่อเชื่อมต่อไปที่ระบบขนส่งสาธารณะของมหาวิทยาลัยเดิม ปัจจุบันได้มีการย้ายตำแหน่งจุดท่ารถตู้ออกไป จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งานมากนัก พื้นที่เดิมเป็นหินคลุกบดอัด ยางมะตอยบดอัด และพื้นลานจอดรถคอนกรีตเสริมเหล็ก บางส่วนมีราวล็อคจักรยานอยู่ ทำการรื้อออกไปเก็บให้เรียบร้อย

 

พื้นที่โดยรอบประกอบไปด้วยต้นไม้สองข้าง เช่นต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นหูกระจง ต้นกระถินณรงค์ บางส่วนจำเป็นต้องรื้อออกเนื่องจากอยู่บริเวณกึ่งกลางพื้นที่ กีดขวางต่อการทำงาน หรือมีบางต้นที่มีความทรุดเอียง เนื่องจากการผุพังของลำต้น ต้นไม้ส่วนใหญ่มีความสูงประมาณ 10-12 เมตร อยู่บริเวณโดยรอบ มีระบบรากอยู่บนผิวดิน การก่อสร้างจะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้โดนลำต้น และรากให้เกิดความเสียหายมากนัก

 

แนวความคิดการออกแบบ ออกแบบพื้นที่จอดรถที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และระบบนิเวศน์ (Eco-Friendly) โดยเลือกใช้วัสดุซึมน้ำได้ (Permeable Pavement) เช่น บล็อกหญ้า (Grass Block) โดยให้โรยกรวดแทนการปลูกหญ้า ในบริเวณช่องจอดรถ ขนาดกว้าง 2.50x5.00 ม. ตามมาตรฐานช่องจอดรถ ส่วนบริเวณถนน เลือกใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความแข็งแรง คงทน และดูแลรักษาง่าย

พื้นที่ด้านข้างเลือกใช้ชนิดพืชพรรณที่ดูแลรักษาง่าย ปลูกเป็นกลุ่มก้อน บริเวณชายน้ำ เพื่อให้พืชสามารถช่วยในการบำบัดน้ำ ยึดหน้าดิน และกรองของเสีย สารพิษจากถนนก่อนปล่อยลงสู่คูน้ำด้านข้าง ทั้ง 2 ด้านได้ เช่น หญ้าไทเป กระดุมทองเลื้อย เศรษฐีเรือนนอก ขาไก่ด่าง พุทธรักษา เป็นต้น

การออกแบบแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ช่องจอดรถยนต์ ช่องจอดรถจักรยานยนต์ และช่องจอดรถจักรยาน โดยให้ช่องจอดรถยนต์อยู่บริเวณส่วนหน้า เนื่องจากจำเป็นต้องเข้า-ออก สะดวกที่สุด ส่วนช่องจอดจักรยาน และจักรยานยนต์จะอยู่บริเวณด้านใน มีทางวนรถที่รถสามารถเข้า-ออกได้โดยสะดวก สามารถใช้ได้ในเวลากลางคืน เนื่องจากติดเสาไฟสูงให้แสงสว่างอย่างทั่วถึง ในอนาคตสามารถทำหลังคาคลุมที่จอดรถจักรยานยนต์ หรือจักรยานเพิ่มได้ จะสามารถป้องกันแดด และฝนได้ดีขึ้น

บริเวณพื้นที่ริมน้ำ มีการทำพื้นที่ลานขนาดเล็กยื่นลงไปบริเวณด้านหน้า เพื่อที่จะสามารถเป็นจุดพักคอย หรือจุดชมวิว ตั้งชุดโต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่งได้ โดยได้รับร่มเงาจากต้นไม้ในเวลากลางวัน และมีไฟแสงสว่างช่วงเวลากลางคืน

 

ทำการรื้อถอนพื้นคอนกรีตเดิม พื้นยางมะตอยเดิม รื้อถอนเสาไฟ รื้อถอนต้นไม้ที่ทรุดโทรม ป้อมยาม และราวเหล็กออกให้หมด ทำการปรับระดับพื้นที่ โดยนำดิน หรือทรายมาถมเพิ่มระดับให้สูงขึ้น ปรับแต่งคูน้ำทั้ง 2 ด้านให้เรียบร้อย 

การออกแบบลานจอดรถ ให้มีความถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งขนาด วงเลี้ยว และช่องจอด โดยช่องจอดรถยนต์ขนาด 2.50x5.00 ม. ช่องจอดรถจักรยานยนต์ และจักรยาน ขนาด 1.00x2.00 ม. ถนนระหว่างช่องจอดรถกว้าง 6.00 ม. และ 2.00 ม. ตามลำดับ ส่วนถนนด้านขาออก กว้าง ประมาณ 3.80 ม. เนื่องจากพื้นที่จำกัด (โดยที่ขนาดของช่องการจราจรปกติอยู่ที่ 3.00 ม.) ให้เผื่อระยะวงเลี้ยว รัศมี 6.00 ม. ทำสีลูกศรบอกทิศทางการเดินรถบนพื้น ไม่ให้สับสน และเข้า-ออกได้อย่างสะดวก

รูปแบบบล็อกคอนกรีตปลูกหญ้า เลือกใช้วิธีโรยหินเกล็ดเล็ก แทนการปลูกหญ้า เนื่องจากจะง่ายต่อการบำรุงรักษา น้ำสามารถซึมผ่านได้ สามารถเดินบนพื้นบล็อกได้ ด้านหลังของช่องจอดรถยนต์ ทำที่กั้นล้อจากคอนกรีตสำเร็จรูป ให้มีระยะห่างจากด้านหลังประมาณ 0.80 ม. เพื่อให้จอดรถแล้วไม่ชิดไปด้านหลัง ส่วนบริเวณลานด้านริมน้ำ เลือกใช้แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ขนาด 0.30x2.00 ม. จำนวน 35 แผ่น บนทรายปรับระดับ หนา 5-10 ซม. ด้านหน้าทางขึ้น ทำทางลาด เซาะร่องคอนกรีตให้เป็นลวดลายปาดมุมโค้งเข้ากับเส้นทางจักรยานเดิม และปรับระดับให้เรียบร้อยสวยงาม

บริเวณด้านข้าง หล่อขอบคอนกรีตเสริมเหล็กเก็บให้เรียบร้อย โดยมีบางส่วนจำเป็นต้องทำขอบให้สูงกว่างพื้นด้านนอกประมาณ 0.15 ม. เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ตกขอบลานไปที่ไม้พุ่ม ดูรายละเอียดตามผังประกอบ ส่วนขอบบริเวณด้านหลังรถยนต์ ทำขอบเสมอพื้นคอนกรีตบล็อก เนื่องจากรถยนต์มีที่กั้นล้อกันตกแล้ว

เลือกใช้ไฟฟ้าแสงสว่างรูปแบบเสาสูง 4.50 เมตร ใช้หลอด LED เพื่อประหยัดไฟ และเลือกใช้ไฟสีขาว Cool Day lightให้ไฟส่องรอบทิศทาง กำลังประมาณ 100 W. จัดวางห่างกันในระยะ 6.00-8.00 ม. เพื่อให้ส่องสว่างได้อย่างทั่วถึงทั้งลานจอดรถ

การออกแบบระบบปั๊มน้ำ โดยตั้งปั๊มอยู่บริเวณริมน้ำ ใส่บ่อวงคอนกรีต และตะกร้ากันเศษใบไม้ และตะกอน ทาท่อสีดำเพื่อความเรียบร้อย เดินท่อ HDPE มีเส้นแกนหลัก และเส้นแกนย่อย ต่อเชื่อมกับหัวมินิสเปรย์ ระยะห่างประมาณ 1.00 เมตร ให้ทั่วถึงทั้งสนามหญ้า และไม้พุ่ม พ่นออกจากพื้นลานจอดรถ ให้น้ำไหลออกไปยังคูน้ำรอบด้าน

การปลูกไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน ปลูกบริเวณขอบลานจอด เลือกใช้ต้นไม้ที่ดูแลรักษาง่าย เช่นหญ้าไทเป บริเวณสนามหญ้าริมน้ำ (ไม่ต้องตัดหญ้า) กระดุมทองเลื้อยบริเวณขอบคูน้ำ ต้นขาไก่ด่าง และเศรษฐีเรือนนอก เป็นไม้ใบด่าง มีความสวยงาม แต่ราคาไม่สูงมาก ต้นไม้ยืนต้นทำการตัดแต่งกิ่งให้เรียบร้อย ถูกต้องตามหลักรุกขกรรม ตัดให้โปร่ง โล่ง มองเห็นได้ทะลุ แสงแดดสามารถส่องผ่านลงมาที่พื้นด้านล่างได้

ลักษณะการปรับระดับพื้น และความลาดเอียงของน้ำ เลือกใช้ระดับหลังเต่า ให้น้ำไหลออกทั้งสองด้าน จุดกลางเป็นจุดสูงสุด ติดป้ายที่จอดรถจักรยานยนต์ และรถจักรยานบริเวณด้านหลัง แยกออกจากกัน บริเวณขอบทำทางลาดเอียง เพื่อช่วยในเรื่องการระบายน้ำ และป้องกันรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ตกขอบได้

ประมาณราคาค่าใช้จ่ายโครงการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.23 ล้านบาท