ที่มาของโครงการ

การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพ นับเป็นส่วน สำคัญอย่างมากในการส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้และ วิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจัย สำคัญประการ หนึ่งที่ตอบสนองทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยทั้งใน ระยะยาว ได้แก่ “วิสัยทัศน์ธรรมศาสตร์ 100 ปี” : มุ่งเน้น การสื่ออัตลักษณ์ที่ชัดเจนของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชำชน มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยนานาชาติ และมหาวิทยาลัยสีเขียวยั่งยืน และเป้าหมายระยะใกล้ ได้แก่ “แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2 564)” : กำหนดให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “สร้างผู้นำด้วยการศึกษาและวิจัยระดับโลก”  จากอดีตจนถึงปัจจุบันสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ท่าพระจันทร์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งแรกของธรรมศาสตร์ มีประวัติศาสตร์สำคัญและยาวนานถึง 82 ปี มีเนื้อที่เพียง 49 ไร่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ไปเป็นอย่างมากด้วยจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นมีผลให้เกิด การขยายตัวของพื้นที่การก่อสร้างอาคารในหลายยุคสมัย รวมถึงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ ที่พัฒนาอย่างเข้มข้นเพื่อรองรับการใช้งานทั้งการเรียนการสอน และกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ปัจจัยดังกล่าวมีผลให้สภาพแวดล้อมของศูนย์ท่าพระจันทร์เริ่มมีความแออัดทั้งจากการสัญจร ที่จอดรถยนต์ อาคารและโครงสร้างถาวร ต่าง ๆ รวมถึงเกิดปัญหาพื้นที่สีเขียวลดน้อยลงอย่างมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลในทางลบต่อบรรยากาศการเรียนการสอนและการวิจัย คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัย ที่จะสะท้อนสู่นักศึกษา บุคลากรและผู้มา เยือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะชองมหาวิทยาลัย เพื่อประชาชนและมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเอเชียจึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาและจัดทำผังแม่บทภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตาม แนวทาง “Campus in the Park” อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อมหาวิทยาลัย พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และประชาชน โดยรอบในภายภาคหน้าต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของการ พัฒนาภูมิทัศน์เมือง (urban landscape) อย่างยั่งยืน
  2. เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อ (connectivity) และปรับระบบสัญจรทางเท้าและจักรยานภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ให้เชื่อมต่อ กับภายนอกอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อขับเน้นคุณค่าและส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์
  4. เพื่อรักษาอัตลักษณ์และส่งเสริมจินตภาพของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ให้คงความ ชัดเจน เกิดมีเอกภาพ และง่ายต่อการรับรู้และเข้าใจ

การศึกษาตามวัตถุประสงค์ของโครงการจะประกอบด้วยงาน 2 ลักษณะ ได้แก่

  • การดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังและพัฒนาพื้นที่ จะเป็นการจัดประชุมเชิง ปฏิบัติการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้แก่ ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งมีส่วน เกี่ยวข้องจากภายนอก ในการพัฒนาและดูแลจัดการ ภายใน มธ.ท่าพระจันทร์และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อบริบทด้านสังคมและการบริหารจัดการ โดยอาจเกิดโครงการย่อย ๆ ระหว่างการดำเนินงานตามความเหมาะสม และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
  • การจัดทำผังแม่บทภูมิทัศน์และแบบพัฒนารายละเอียดพื้นที่ย่อย จะเป็นการนำข้อมูลที่ได้จาก การประชุมเชิงปฏิบัติการ และโครงการย่อยต่าง ๆ มา ประกอบกับการเก็บข้อมูลด้านกายภาพประกอบของพื้นที่ และนำเสนอรูปแบบผังแม่บทภูมิทัศน์และการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เห็นเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

 

แนวความคิดในการออกแบบ:

1. แนวคิดด้านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม การปรับปรุงผังแม่บทภูมิทัศน์มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการกับผู้บริหารและบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความคุ้นเคยและมีประสบการณ์ในการใช้งานพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงและวิเคราะห์ประเด็นศักยภาพ ปัญหาเกี่ยวกับภูมิทัศน์ในทุก ๆ ด้าน เพื่อเสนอแนวคิดและแนวทางแก้ไข และการจัดทำผังแม่บทภูมิทัศน์ร่วมกันอย่างบูรณาการ อันเป็นที่มาของกรอบแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุง สภาพแวดล้อมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามแนวทาง “Campus in the Park” อันเป็นประโยชน์ต่อ มหาวิทยาลัยในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ทั้งในปัจจุบันและ อนาคต ซึ่งจากการระดมความคิดกับผู้บริหารและบุคลากร ทำให้ทราบถึงประเด็นปัญหา และศักยภาพที่สำคัญใน เบื้องต้น 10 ประเด็น ได้แก่ ส่งเสริมการสัญจรทางเท้าและเชื่อมต่อเส้นทางจักรยาน จัดระบบจราจรและที่จอดรถ ออกแบบและจัดการพื้นริมน้ำ ส่งเสริมเรื่องราวประวัติศาสตร์ อนุรักษ์ดูแลต้นไม้ใหญ่ จัดการขยะอย่างยั่งยืน จัดการพื้นที่รกร้างสร้างเสริมสุขภาพด้วยสวนผักคนเมือง ปรับปรุงระบบป้าย จัดการน้ำฝนอย่างยั่งยืน และติดตั้งแหล่งพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ กระบวนการในการจัดทำผังแม่บทฯ และ กระบวนการมีส่วนร่วมเชิงปฏิบัติ ได้แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ควบคู่กัน ประกอบด้วย

  • การจัดทำผังแม่บทภูมิทัศน์ เพื่อสรุปข้อมูลทาง กายภาพและนโยบาย ทั้งปัจจุบันและอนาคต
  • การพัฒนาแนวคิดและรายละเอียดกายภาพพื้นที่โครงการย่อย เพื่อพัฒนารายละเอียดการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรมของโครงการย่อยตามผังแม่บทฯ ที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนาอย่างชัดเจน

2. เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์โครงการและให้มีความสอดคล้อง กับประเด็นสำคัญทั้ง 10 ประเด็นที่ได้จากการระดมความคิด โดยต้องการส่งเสริมอัตลักษณ์ ภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ นักศึกษาและบุคคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเอเชีย ตามกรอบแนวคิด “Campus in the park” หรือ “อุทยานการศึกษา” ที่มุ่งเน้นความสมดุลระหว่างการ อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม และการรองรับกิจกรรมตามความต้องการของชาวธรรมศาสตร์และประชาชนโดยรอบอย่างยั่งยืน สามารถอธิบายแนวทางการพัฒนาย่อยภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าวได้ ดังนี้

1) การพัฒนาโครงข่ายระบบการสัญจรเชื่อมต่อและจัดการระบบที่จอดรถ (Connectivity and Parking System): สร้างความสมดุลทางการสัญจร โดยเน้นการ เชื่อมต่อระบบทางเดินเท้าและทางจักรยานทั้ง ภายในมหาวิทยาลัยและการเชื่อมต่อกับบริบท ภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ

2) การพัฒนาโครงข่ายสีเขียวอย่างยั่งยืน (Sustainable Green Network): พัฒนาพื้นที่ภูมิทัศน์อย่างบูรณาการโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ทั้งนันทนาการและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเน้นอัตลักษณ์ทางภูมิทัศน์ให้มีความชัดเจน

3)  การส่งเสริมคุณค่าและแหล่งรู้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ (Historic study area): ส่งเสริมคุณค่าและการเรียนรู้ในพื้นที่ ประวัติศาสตร์ทุกมิติที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และ การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม

4) การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ (Waterfront connect with the river): พัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้มีรูปแบบที่สามารถรองรับกิจกรรมของคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับน้ำ โดยบูรณาการงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมกับเทคนิควิศวกรรมอย่างเหมาะสม

5) การพัฒนาองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ (Landscape Elements): สร้างและพัฒนาองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ที่ตรงต่อความต้องการใช้งาน สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และสื่อความหมายและเอกลักษณ์ธรรมศาสตร์ได้ชัดเจน

รายละเอียดโครงการ:

  1. การใช้ประโยชน์อาคาร เนื่องจากพื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์มีการก่อสร้างอาคารจนเต็มพื้นที่แล้ว จึงให้คงการใช้ประโยชน์อาคารส่วนใหญ่ตามเดิม ยกเว้นอาคารที่มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ได้แก่ อาคารโดม เสนอให้ปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้งาน โดยให้จัดการย้ายส่วนบริหารฝ่ายต่าง ๆ ไปใช้พื้นที่ในอาคารอเนกประสงค์ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยภายในใหม่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับอาคารเรียนส่วนใหญ่ เสนอให้คงการใช้งานเดิมโดยปรับการใช้สอยพื้นที่ด้านล่าง ให้มีการบริการสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปมากขึ้น เช่น ร้านกาแฟ co-working space ร้านอาหาร ห้องน้ำ เป็นต้น
  2. การใช้ประโยชน์พื้นที่เปิดโล่ง เสนอให้อนุรักษ์พื้นที่เปิดโล่งหลัก 2 ชิ้น ได้แก่ สนามฟุตบอล และ พื้นที่ริมน้ำทั้งลานปรีดี ลาน 60 ปี และริมน้ำด้านข้างโรงอาหาร (อาคาร 60 ปี ธรรมศาสตร์) เพื่อให้ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ยังคงความโปร่งโล่ง และมีมุมองที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัย เปิดมุมองให้เห็นอาคารสำคัญต่าง ๆ และสร้างการเชื่อมโยงกับพื้นที่เปิดโล่งภายนอก ได้แก่ สนามหลวง และแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้น พื้นที่เปิดโล่งหลักทั้ง 2 ชิ้นยังมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ มีกิจกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยและเป็นที่รับรู้ในระดับชาติ การปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เปิดโล่งนี้จึงต้องคำนึงถึงการถ่ายทอดเรื่องราวและการสร้างความทรงจำ ควบคู่ไปกับการใช้การในเชิงนันทนาการของนักศึกษา บุคลากร และประชาชนในปัจจุบัน สำหรับพื้นที่เปิดโล่งรอง ได้แก่ ที่ว่างภายในกลุ่มอาคาร (courtyard) และที่ว่างระหว่างอาคาร เสนอให้ปรับให้เหมาะสมกับกิจกรรมของอาคารนั้น ๆ และพยายามลดปริมาณการจอดรถบดบังหน้าอาคารและทางเดินหลักเข้าออกจากอาคาร เพื่อให้เกิดบรรยากาศของ campus in the park และส่งเสริมกิจกรรมของคนมากกว่ารถยนต์ พื้นที่ว่างด้านข้างและด้านหลังอาคารสามารถปรับใช้สำหรับรถบริการซ่อมบำรุงเข้าได้ โดยจัดที่จอดรถชั่วคราวไว้ พื้นที่ว่างที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ พื้นที่ว่างบริเวณทางสัญจร ซึ่งกำหนดให้เป็นการใช้ร่วมกันระหว่างรถยนต์ จักรยาน และคนเดิน ทางสัญจรหลักจะต้องคำนึงถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าจดจำของมหาวิทยาลัย
  3. การจัดการพื้นที่สีเขียว เนื่องจากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์อยู่ในเขตเมืองหนาแน่น จึงมีพื้นที่สีเขียวในลักษณะพื้นที่ดาดแข็งเป็นส่วนใหญ่ เช่น บริเวณลานปรีดี ลาน 60 ปี และภายใน courtyard อาคารต่าง ๆ เสนอให้พื้นที่ประเภทนี้จัดการดูแลไม้ยืนต้นอย่างถูกต้องตามหลักรุกขกรรม โดยเปิดพื้นที่ให้รากได้รับน้ำและอากาศอย่างเพียงพอ ตัดแต่งกิ่งและพุ่มในด้วยวิธีสางโปร่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโค่นล้มในฤดูมรสุม ส่วนไม้พุ่มและไม้คลุมดินให้ใช้เพื่อช่วยในการแบ่งพื้นที่ใช้สอย และสร้างขอบเขตของพื้นที่ โดยให้เลือกใช้พรรณไม้ที่ง่ายต่อการดูแลรักษา วัสดุพื้นดาดแข็งเสนอให้เลือกใช้วัสดุที่น้ำซึมผ่านได้ เพื่อลดภาระการระบายน้ำฝนลงท่อระบายน้ำ และยังช่วยให้น้ำและอากาศลงสู่รากของไม้ยืนต้นได้มากขึ้นด้วย สำหรับพื้นที่สีเขียวดาดนุ่ม ได้แก่ สนามฟุตบอล ให้ดูแลรักษาตามมาตรฐานการดูแลสนามหญ้า พื้นที่สีเขียวที่สำคัญอีกประเภทของธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ได้แก่ พื้นที่สีเขียวบนอาคาร ซึ่งในปัจจุบันยังมีน้อยมาก แต่เสนอให้มีการปรับใช้พื้นที่ด้านบนหลังคาอาคารให้เกิดประโยชน์โดยการใช้ปลูกไม้พุ่มหรือพืชพักสวนครัวในกระบะปลูก ร่วมกับไม้ยืนต้นขนาดกลางในกระถาง และจัดพื้นที่ให้สามารถใช้งานในการพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย ทั้งนี้การจัดวางต้นไม้จะต้องตรวจสอบการระบายน้ำบนหลังคา และการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารให้ละเอียดก่อนเริ่มดำเนินการ
  4. การสัญจรและการจัดที่จอดรถ เสนอให้ปรับพื้นที่จอดรถภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดบรรยากาศของ campus in the park โดยให้ศึกษาการจัดทำอาคารจอดรถรวมบริเวณลานจอดรถปัจุบันหลังหอประชุมใหญ่ทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล โดยอาจพิจารณาให้เป็นอาคารที่มีทั้งชั้นใต้ดินและเหนือดิน เพื่อให้สามารถลดปริมาณลานจอดรถขนาดเล็กอื่น ๆ ลงได้ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าอาคารโดม เสนอให้ไม่ต้องมีที่จอดรถและให้จัดที่จอดของผู้บริหารหรือแขกพิเศษบริเวณด้านหลังอาคารโดม รวมทั้งลดปริมาณหรือยกเลิกที่จอดรถบริเวณหน้าอาคารและ courtyard อาคารสำคัญ เช่น ลานโพ หน้าอาคารคณะศิลปะศาสตร์ และ courtyard คณะนิติศาสตร์ เพื่อสร้างภาพจำที่มีคุณค่าต่อมหาวิทยาลัยทั้งยังเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น สำหรับระบบถนน ให้ปรับการสัญจรของรถยนต์ให้วนบริเวณรอบสนามฟุตบอลเป็นหลัก และใช้เส้นทางหน้าอาคารโดมเฉพาะการรับส่งเท่านั้น เพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยและสวยงามระหว่างอาคารโดมและพื้นที่ริมแม่น้ำ ระบบทางจักรยานให้สามารถใช้ถนนหลักทั้งหมดได้ และจัดให้มีจุดจอดจักรยานทั้งส่วนตัวและระบบ bike sharing ใกล้จุดทางเข้าออกมหาวิทยาลัย และใกล้กับแหล่งรวมกิจกรรม เช่น ห้องสมุด โรงอาหาร อาคารโดม และสนามฟุตบอล
  5. พื้นที่ประวัติศาสตร์ เสนอให้จัดพื้นที่และองค์ประกอบภูมิทัศน์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในทุก ๆ ระยะเวลา ตั้งแต่การเป็นวังหน้า กรมทหารราบ 11 และ ประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์และประชาธิปไตย โดยสื่อสารผ่านองค์ประกอบ เช่น ป้าย ประติมากรรม และองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่าง ๆ เช่น เก้าอี้ กำแพง พื้น เสาไฟ ฯลฯ โดยออกแบบให้มีความกลมกลืนกับสภาพภูมิทัศน์บริเวณนั้น ๆ นอกจากนั้น เสนอให้มีการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อทางเทคโนโลยี เช่น QR Code หรือ AI เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลของมหาวิทยาลัยและข้อมูลการท่องเที่ยวของเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
  6. การสื่อภาพจำและลักษณะภูมิทัศน์ การจัดการภูมิทัศน์จะต้องทำให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์หลักของพื้นที่ภูมิทัศน์นั้น ๆ เพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงแบ่งการจัดการภูมิทัศน์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภูมิทัศน์แบบต้อนรับเชื้อเชิญ ภูมิทัศน์แบบพื้นที่สาธารณะ ภูมิทัศน์แบบพิธีการและการสื่อสัญลักษณ์ ภูมิทัศน์แบบผ่อนคลาย/ไม่เป็นทางการ โดยระดับการดูแลรักษาและการสื่อสารเรื่องราวจะลดหลั่นกันตามลำดับ
  7. ระบบการจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำฝนในช่วงฝนตกหนักประกอบกับปัญหาความกร่อยของน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่นำมาใช้ในการดูแลภูมิทัศน์ จึงเสนอให้ปรับพื้นที่ลานดาดแข็งบางส่วนให้เป็นวัสดุที่น้ำซึมผ่านได้ (porous pavement) เพื่อให้น้ำซึมลงดินได้บางส่วน สำหรับน้ำผิวดินที่ปัจจุบันจะไหลลงระบบระบายน้ำและปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือระบบระบายน้ำของเมือง เสนอให้จัดทำแท็งก์เก็บน้ำไว้ใต้ดินหรือบนหลังคา เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำฝนและนำกลับมาใช้ในการดูแลภูมิทัศน์ได้
  8. การจัดการต้นไม้ใหญ่ จากการสำรวจพบว่าไม้ยืนต้นในพื้นที่มีจำนวนมากและมีสภาพโดยรวมค่อนข้างทรุดโทรม และมีปัญหาในหลายประเด็น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นกับพืชพรรณแต่ละต้นส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เกิดเพียงประเด็นเดียว แต่มักจะเกิดร่วมกันมากกว่าหนึ่งประเด็น ในการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าประเด็นใดเป็นประเด็นหลักแล้วค่อยแก้ปัญหาในประเด็นรองต่อไป ซึ่งโดยสรุปแล้วปัญหาของต้นไม้ใหญ่จำแนกออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่
  • ปัจจัยเหนือดิน เช่น ความเอียงของลำต้น กิ่งก้านที่ไม่สมดุล ระยะปลูกชิดเกินไป ซึ่งสาเหตุเกิดจากตำแหน่งปลูกที่อาจไม่เหมาะสมตั้งแต่แรก การเบียดใกล้กับอาคาร ต้นไม้รับแสงไม่เพียงพอ รวมทั้งขาดการตัดแต่ง การแก้ไขต้องประเมินสภาพและตัดแต่งเพื่อสร้างความสมดุล รวมทั้งอาจต้องจัดทำค้ำยัน
  • ปัจจัยใต้ดิน ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบรากทั้งหมด เช่น รากถูกกดทับด้วยพื้นที่ดาดแข็งในปริมาณมาก การปลูกไม้ขนาดใหญ่ในกระบะปลูกที่เล็กเกินไปทำให้รากขดและไม่สามารถรับน้ำหนักต้นได้ สาเหตุเกิดจาการเลือกใช้ชนิดพรรณไม้และการออกแบบพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะต้นหางนกยูงฝรั่งที่มีระบบรากแผ่กว้างมากแต่ส่วนใหญ่ปลูกในกระบะยกสูงจากพื้นดิน การแก้ไขต้องพิจารณาปรับภูมิทัศน์โดยรอบต้นไม้ให้เหมาะสม หากพื้นที่ใดไม่สามารถปรับได้ ควรพิจารณาย้ายต้นไม้นั้นไปไว้ที่อื่นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดได้ในอนาคต
  • ปัจจัยด้านการดูแลรักษา ไม้ยืนต้นในเมืองจำเป็นต้องได้รับการดูแลตัดแต่งตามหลักรุกขกรรมเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพเมืองและไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากกิ่งหักและการโค่นล้ม การดูแลรักษาจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาประเมินและจัดการเป็นรายต้น โดยการดูแลหลักได้แก่ การสางกิ่งใบให้โปร่งไม่ต้านลม การแต่งทรงกิ่งและพุ่มให้มีความสมดุล การสำรวจรักษาโรคแมลงต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสอบสภาพรากและป้องกันไม่ให้ถูกทำลายจากการก่อสร้าง
  • ปัจจัยด้านการใช้งานเชิงภูมิสถาปัตยกรรมและสุนทรียภาพ ได้แก่ ปัญหาความเป็นเอกภาพของพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการปลูกต้นไม้ในช่วงเวลาที่ต่าง ๆ กัน และมิได้มีการกำหนดภาพรวมให้ชัดเจนทั้งในเรื่องชนิด รูปทรง และการจัดวางเป็นกลุ่มหรือเป็นแนว รวมทั้งการไม่คำนึงถึงขนาดของต้นไม้เมื่อเติบโตเต็มที่ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ เหมือนกันในช่วงที่ปลูกระยะเริ่มแรก การแก้ไขต้องใช้การดูแลตัดแต่งและการจัดการระบบรากดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่งยวด เสนอให้ปรับเปลี่ยนการออกแบบโดยอาจย้ายต้นไม้ออกและเปลี่ยนเป็นชนิดอื่น

การจัดการภูมิทัศน์โดยรวม ควรจัดให้มีมาตรการในการออกแบบและเลือกสรรชนิดพรรณไม้ที่จะใช้ในอนาคต ให้เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำ รวมทั้งขนาดพื้นที่ด้วย ต้นไม้ที่ควรเลือกใช้ในธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ควรเป็นไม้ที่ต้นน้ำขังแฉะได้ และมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อโตเต็มที่ เช่น กุ่มน้ำ กระโดน กันเกรา กระทุ่มนา ขี้เหล็กบ้าน จิกน้ำ ตะแบกนา สะเดา สะแก ประดู่ พะยอม ทองกวาว พิกุล มะกอกน้ำ เป็นต้น สำหรับต้นหางนกยูงฝรั่งซี่งเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ควรเลือกปลูกในจุดที่มีความสำคัญมาก ๆ และจัดพื้นที่ปลูกให้มีพื้นที่แผ่ของรากได้กว้างขวาง ยกสูงกว่าระดับดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง การนำต้นไม้ใหม่มาปลูกควรเลือกขนาดปานกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 4”-8” เพื่อให้ต้นไม้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี