การจัดตั้งหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อเก็บรักษาเอกสารและสิ่งของสำคัญที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวและเป็นศูนย์กลางแหล่งศึกษาค้นคว้าสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือ สำหรับนักศึกษา บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้สนใจศึกษาทั่วไป การศึกษานี้เพื่อเป็นการจัดทำแบบแนวคิดเบื้องต้น การประเมินราคาเพื่อจัดสรรงบประมาณ และมุ่งเน้นที่การหาลักษณะเฉพาะของลำปางที่คู่ควรเหมาะสมกับการจัดตั้งหอจดหมายเหตุ
อาคารที่สร้างเสร็จแล้วเป็นที่ตั้งหอจดหมายเหตุนี้ พบว่ามีลักษณะที่แสดงการประยุกต์ใช้ความคลาสสิคในองค์ประกอบอาคาร แต่ยังขาดองค์ประกอบที่แสดงความเป็นลำปาง ที่จำเป็นต้องปรับเพิ่ม คือ การใช้วัสดุไม้ผสมผสานกับปูน รูปแบบเส้นสายโค้งเลียนแบบธรรมชาติของส่วนประดับ การฉลุกับส่วนกันแดด ราวกันตก ลวดลายเฉพาะทั้งเรขาคณิตและธรรมชาติของกระเบื้องพื้น ทั้งนี้ ขนาดพื้นที่มีความพอเพียงสำหรับหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย สามารถจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม งานระบบที่ต้องพิจารณาและใช้งบประมาณมาก คือ ระบบดับเพลิงที่ไม่ใช้น้ำเพื่อรักษาเอกสาร โครงสร้างอาคารจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการรับน้ำหนักและเสริมความแข็งแรงโครงสร้างอย่างเหมาะสม แม้การศึกษาเน้นที่การจัดพื้นที่ภายในอาคาร แต่ได้เสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนนอกอาคารด้วยเพื่อควบคุมแสงและอุณหภูมิภายใน ส่วนจัดแสดงได้ถูกคำนึงถึงการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ สามารถเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศร่วมกับการใช้พัดลม ในช่วง “ความปกติใหม่” หรือ “นิวนอร์มัล” ร่วมกับการจัดพื้นที่ที่สามารถจัดเว้นระยะห่างได้
งบประมาณ 15.8 ล้านบาท