แนวทางการออกแบบห้องพักอาจารย์ DBTM, CIDAT, TDC และ Visiting Professor แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย นาย อาทิตย์ ฉัตรโพธิ์ทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน

 

บทนำ

                ในช่วงปีการศึกษา 2561 สถ.มธ. (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีการจัดทำแผนโครงการพัฒนากายภาพของตึกคณะ เพื่อให้รองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น โครงการต่อเติมอาคารชั้น 7 จึงได้รับการเสนอให้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในขณะนั้น เพื่อรองรับชั้น 7 ที่จะเพิ่มขึ้นมา อาคารจึงมีความจะเป็นที่จะต้องติดตั้งลิฟท์เพิ่มขึ้นในปร่องลิฟท์ฝังตะวันตกของคณะสถาปัตย์ฯ และต้องสามารถเดินทางขึ้นไปถึงบริเวณชั้น 7 ได้โดยสะดวก

                ปัญหาที่ตามมาก็คือ บริเวณโถงลิฟท์ฝังตะวันตก ชั้น 6 แต่เดิมเป็นพื้นที่ห้องพักของอาจารย์สาขา DBTM จึงส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งาน และรวมถึงลักษณะการใช้งานเดิม ห้องพักของอาจารย์สาขา DBTM ที่กระจายตัวอยู่ภายในอาคาร สถาปัตย์ฯ ทั้งบริเวณชั้น 5 และ 6 ทำให้การทำงานของภาควิชา DBTM ไม่คร่องตัวอย่างที่ควร ดังนั้นคณะกรรมภารฝ่ายพัฒนากายภาพในขณะนั้นได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ออกแบบโครงการดังกล่าว ภายใต้กรอบการทำงานที่เร่งรัดเพื่อให้โครงการลิฟท์ และ โครงการต่อเติมชั้น 7 เป็นไปได้ด้วยดี

                โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณชั้น 6 ของอาคารสถาปัตยกรรมฯ ฝั่งทิศใต้ของอาคาร ที่แต่เดิมเป็นห้องหน่วยวิจัย 617-618 ลักษณะห้องเดิมเป็นห้องโล่ง ฝ้าเพดานสูง 2.60 เมตร มีหน้าต่างทางด้านทิศใต้ และมีประตูทางเข้าห้องติดกับถงทางเดินหลักภายในอาคารโดยตรง ตามตำแหน่งลูกศรในภาพที่ 1.1

ภาพที่ 1.1 แสดงตำแหน่งที่ตั้งโครงการ

                ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงแนวทางการออกแบบครั้งนี้มีความน่าสนใจคือ 1) มาตรฐานวิชาชีพภายใต้กรอบเวลาการทำงานที่กระชั้นชิด โดยใช้เวลาทั้งหมดในการออกแบบเริ่มตั้งแต่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และสิ้นสุดส่งมอบแบบให้แก่คณะในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และ 2) การใช้งานที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้งานบางส่วนเป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ

               

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

                ข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ประกอบการตัดสินใจในการออกแบบครั้งนี้มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) ขั้นตอนการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพออกแบบสถาปัตยกรรม และ 2) การวิเคราะห์หน้าที่ใช้สอยและกิจกรรมการใช้สอยและ 3) สภาพแวดล้อมสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1) มาตรฐานวิชาชีพออกแบบสถาปัตยกรรม

                ในมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ อ้างอิงจากข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์ตามข้อ 8 ว่าด้วย เพื่อเป็นการยกระดับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมให้ได้มาตรฐาน สนองต่อประโยชน์ของผู้รับบริการตลอดจนสาธารณะ และเป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปัตยกรรมควบคุม ....” จะเห็นได้ว่าในฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมจะต้องมีแนวทางในการปฎิบัติต่อผู้รับบริการที่มีมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการและสาธารณะเป็นหลัก รายละเอียดมาตรฐานมีดังต่อไปนี้

                “ ข้อ ๔ ในการเสนอการให้บริการโครงการ สถาปนิกจะต้องระบุขอบเขตของบริการเพื่อเป็นพื้นฐานของความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสถาปนิกกับผู้รับบริการ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องครอบคลุมถึงลักษณะงาน สาขาวิชาชีพ ชนิดงาน ระบบงานที่จะให้บริการ ประเภทและขนาดของงาน ขั้นตอนและกรอบเวลาการทํางาน ” กล่าวคือ เมื่อสถาปนิกเข้าเสนอให้บริการออกแบบต่อผู้รับบริการ สถาปนิกจะต้องทำให้ผู้รับบริการมีความเข้าใจในของเขตุการทำงานให้ชัดเจนเสียก่อน ตามข้อบังคับนี้ได้ระบุสิ่งที่จะต้องแจ้งแก่ผู้รับบริการเข้าใจในโครงการที่ตนกำลังจะทำ ได้แก่ ลักษณะงานที่จะให้บริการว่าเป็นการออกแบบ งานบริหารโครงการ หรือเป็นงานตรวจสอบ สาขาวิชาชีพของตน เช่น สถาปนิก สถาปนิกภายใน หรือ ภูมิสถาปนิก ชนิดงานที่รับบริการก็จะต้องสอดคล้องกับสายอาชีพของต้น เช่น สถาปนิกภายในก็ควรจะออกแบบในส่วนที่เป็นงานภายในอาคาร ระบบงานที่จะให้บริการหมายถึงระบบในการชำระเงินและการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เป็นระบบเหมา (Lump Sum Fee) หรือจ้างเป็นรายชั่วโมง (Per Hour Fee) ประเภทและขนาดของงาน คือประเภทของโครงการและพื้นที่ เช่น เป็นอาคารประเภทสำนักงาน ขนาด 800 ตารางเมตร และสุดท้ายคือขั้นตอนและกรอบเวลาการทำงาน ในทางปฏิบัติมักถูกเรียกว่า Timeline ในการทำงาน ซึ่งต้องเป็นการตกลงกันระหว่างความต้องการของผู้รับบริการและสถาปนิกผู้ให้บริการ

“ ข้อ ๕ ในการให้บริการโครงการแก่ผู้รับบริการ สถาปนิกต้องมีข้อตกลงในการให้บริการซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่อง ดังต่อไปนี้ ”

“  (ก) ขอบเขตของบริการตามข้อ ๔ ” หมายถึงสิ่งที่ได้เคยตกลงกันไว้ตอนที่นำเสนอไว้ในขั้นแรก

“  (ข) ระยะเวลาดําเนินงาน หมายความถึง กําหนดระยะเวลาที่จะปฏิบัติงานหรือให้บริการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นและการสิ้นสุดการบริการซึ่งอาจรวมหรือไม่รวมเวลาพิจารณาของผู้รับบริการก็ได้ ” ระยะเวลาในการดำเนินการสามารถระบุให้เป็นกรอบเวลาโดยรวมของการทำงานทั้งหมด หรือจะกำหนดตามขั้นตอนการทำงานการออกแบบก็ได้ เช่น ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในประกอบด้วย งานบริการช่วงก่อนออกแบบ งานวางแนวคิดในการออกแบบเบื้องต้น งานออกแบบร้าง งานออกแบบขั้นพัฒนา งานออกแบบขั้นรายละเอียด และงานบริการช่วงการก่อสร้าง ในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลาเท่าไร ซึ่งในบางกรณีที่ผู้รับบริการต้องใช้เวลาตัดเสินใจสามารถตกลงแยกช่วงเวลาดังกล่าวออกมาจากกรอบเวลาการดำเนินงานได้

“ (ค) วิธีการนําเสนองาน หมายความถึง การแสดงผลงานหรือวิธีการบริการตลอดจนแนวทางในการสรุปผลของการนําเสนอ ” เมื่อออกแบบหรือดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเรียบร้อย จะต้องนำเสนอต่อผู้รับบริการ ซึ่งการนำเสนองานในการออกแบบมีได้หลายรูปแบบ เช่น ภาพจำลองสามมิติ ผังพื้น หรือ รายละเอียดต่าง ๆ ของงาน ดังนั้นผู้ให้บริการจึงต้องกำหนดต่อผู้รับบริการให้ชัดเจน

“ (ง) ค่าบริการวิชาชีพ หมายความถึง หลักเกณฑ์หรือวิธีการกําหนดค่าบริการวิชาชีพตลอดจนขั้นตอนในการเบิกจ่ายค่าบริการดังกล่าวทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความตกลงร่วมกัน ” ค่าดำเนินการและการแบ่งงวดงานที่ให้บริการ

“ ข้อ ๖ ก่อนและในระหว่างการให้บริการโครงการแก่ผู้รับบริการ สถาปนิกต้องชี้แจงต่อผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจต่อวิธีปฏิบัติวิชาชีพในเรื่อง ดังต่อไปนี้ ”

 “ (ก) ภาระและหน้าที่ของสถาปนิกในโครงการที่สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการตามสาขาและชนิดงาน ”  รูปแบบในการให้บริการของสถาปนิกไม่ได้มีเพียงแต่การออกแบบเท่านั้น บางทีผู้ออกแบบจะต้องทำหน้าที่บริหารโครงการ ศึกษาโครงการ ตรวจสอบ หรือบริหารการก่อสร้างด้วย ดังนั้นการทำให้ผู้รับบริการเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของสถาปนิกในแต่ละโครงการ เพื่อให้ไม่เกิดความสับสนในการมอบหมายงานและข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจบทบาทของสถาปนิก

 (ข) ภาระและหน้าที่ของผู้รับบริการต่อโครงการในส่วนต่างๆ ของข้อตกลงว่าจ้างตามข้อ ๕ รวมทั้งความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จําเป็นและเกี่ยวข้องกับการบริการ โดยปกติแล้วผู้รับบริการจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบในแต่ละโครงการเสมอ ดังนั้นเมื่อสถาปนิกต้องการความร่วมมือจากผู้รับบริการจึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้แก้ผู้รับบริการเพื่อที่จะสามารถให้ความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผังพื้นของอาคารในบางโครงการที่มีผังเดิมอยู่แล้ว หรือข้อมูลเชิงลึกบางอย่างที่ใช้ในการออกแบบโครงการนั้น ๆ

ข้อ ๗ ในกรณีที่ข้อตกลงระหว่างสถาปนิกและผู้รับบริการตามข้อ ๕ อยู่ในรูปแบบของสัญญาว่าจ้างตามกฎหมายอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเนื้อหา ดังต่อไปนี้

 (ก) เนื้อหาตามข้อ ๕

 (ข) ภาระหน้าที่ของสถาปนิกและผู้รับบริการตามข้อ ๖

                เมื่อได้ทำสัญญาว่าจ้างตามกฎหมายแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดของการทำงานในข้อ 5 และ 6 ลงในสัญญาด้วย

                สรุปแล้วจะเห็นได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวมีการเขียนกำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเหมาะสมกับแต่ละโครงการ แต่เน้นที่การสื่อสารและข้อตกลงระหว่างสถาปนิกและผู้รับบริการให้มีความชัดเจน และเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับผู้รับบริการถึงหน้าที่ บทบาท หรือลักษณะเฉพาะของโครงการนั้น ๆ

            2) การวิเคราะห์หน้าที่ใช้สอยและกิจกรรมการใช้สอย

            ตามหลักการวิเคราะห์หน้าที่ใช้สอยและกิจกรรม (จันทนี, 2556) ในการวิเคราะห์การใช้งานในแต่ละพื้นที่จะต้องวิเคราะห์จาก 1) ประโยชน์ใช้สอย (Function) และ 2) กิจกรรมการใช้สอย (Activity) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                                2.1) การวิเคราะห์พื้นที่ใช้สอย (Function Analysis) คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ใช้สอยแต่ละพื้นที่โดยคำนึงถึง การใช้งานหลัก (Main Function) ว่ามีการใช้งานในรูปแบบและในแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ก็ต้องพิจารณา การใช้สอยย่อย (Sub Function) ของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เพื่อที่จะสามารถสรุปออกมาเป็นระยะห่างระหว่างพื้นที่การใช้งาน ลำดับการเข้าถึง ลักษณะการใช้งาน และทางสัญจรภายในพื้นที่โครงการ

                โดยสิ่งที่จะต้องคำนึงมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ ลักษณะโครงสร้างขององค์กร (Organization Structure) และ ลักษณะการทำงาน (Operation) เพื่อให้ได้การใช้งานที่เหมาะสม

                ลักษณะโครงสร้างขององค์กร (Organization Structure) สายงานการบริหารเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบพื้นที่สำหรับองค์กร  โดยการศึกษาโครงสร้างองค์กรทำให้ผู้ออกแบบสามารถจัดหมวดหมู่และลำดับความสัมพันธ์ เพื่อนำมาใช้เป็นการจัดวางในเบื้องต้น

                ลักษณะการทำงาน (Operation) จะดูลึกในรายละเอียดของแต่ละพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์ตจ่อกันอย่างไร และมีความถี่ของพฤติกรรมนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด เมื่อได้ข้อมูลในแง่นี้แล้วจึงสามารถที่จะจัดวางพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน และให้พื้นที่มีความต่อเนื่องตามการใช้งานของพื้นที่นั้น ๆ

                                2.2) การวิเคราะห์กิจกรรม (Activity Analysis) เป็นการวิเคาะห์การกระทำ (Action) ของผู้ใช้งาน (User) โดยเราสามารถสรุปได้ว่าผู้ใช้งานถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้บริการ และกลุ่มผู้ให้บริการ โดยแต่ละกลุ่มผู้ใช้งานจะต้องใช้การพิจารณาเชิงสังคมช่วยพิเคราะห์ด้วย เช่น ช่วงอายุ เพศ เชื่อชาติ เป็นต้น เพราะผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มมีความต้องการและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน

                ประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์จะต้องแยกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การวิคราะห์กิจกรรมเพื่อหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ใช้สอย และการวิเคราะห์กิจกรรมเพื่อหาเนื้อที่ใช้สอยและองค์ประกอบแวดล้อมต่าง ๆ

                การวิคราะห์กิจกรรมเพื่อหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ใช้สอย เพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ในโครงการ เช่น พื้นที่ประชาสัมพันธ์ที่มีกิจกรรมการติดต่อ สอบถามข้อมูลควรจะมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่พักคอยโดยตรง เพื่อให้ผู้มาติดต่อมีพื้นที่ในการรอเข้าใช้บริการและติดต่อสอบถามในเวลาเดียวกัน

                การวิเคราะห์กิจกรรมเพื่อหาเนื้อที่ใช้สอยและองค์ประกอบแวดล้อมต่าง ๆ ในกิจกรรม ทำให้ผู้ออกแบบทราบถึงขนาดของพื้นที่ใช้สอยในแต่ละกิจกรรม (Area Requirement) รวมไปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ โดยการวิเคราะห์พื้นที่จะต้องวิเคราะห์ให้เป็น 3 มิติ และนำมาเป็นเกณฑ์ในการออกแบบพื้นที่สำหรับแต่ละกิจกรรม เช่น โต๊ะทำงานในสำนักงาน ควรมีขนาด กว้าง 150 เซนติเมตร ลึก 80 เซนติเมตร เพื่อเหมาะต่อการใช้งานและวางอุปกรณ์ของผู้ประกอบกิจกรรมในปัจจุบัน และควรมีพื้นที่สำหรับนั่งเป็นระยะความลึกไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร เพื่อให้เคลื่อนไหวตัวได้สะดวกและไม่เกิดความรู้สึกอึดอัดในการทำงาน

            3) สภาพแวดล้อมสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน

                สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ละเอียดอ่อนและซับซ่อน ดังนั้นผู้ออกแบบจึงเลือกเฉพาะปัจจัยด้านสภาพอากาศนำมาเป็นเกณฑ์ในการออกแบบเพื่อให้สามารถดำเนินการออกแบบได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด

                จากการศึกษาความรู้สึกของผู้ใช้งานที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมต่อสภาพอากาศที่แตกต่างกันออกไป (I. Kenawy) พบว่า พื้นฐานทางวัฒนาธรรมของแต่ละคนมีผลต่อการรับรู้สภาพอากาศแตกต่างกันไป ดังนั้นในการออกแบบพื้นที่สาธารณะควรคำนึงถึงพื้นหลังของผู้ใช้งาน ว่ามาความไวต่อสภาพอากาศร้อนหรือหนาวหมากกว่ากัน

                ในการศึกษาดังกล่าวได้เสนอแนวทางการออกแบบที่ใช้กับพื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายนอกอาคาร เช่น การออกแบบให้มีส่วนบังแดดให้แก่ผู้ใช้งานบางกลุ่ม หรือช่องเปิดเพื่อให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกในการใช้งานพื้นที่ร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

                จากการใช้งานของผู้ออกแบบเองก็พบว่าอุณหภูมิของห้องพักอาจารย์ในปัจจุบันเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว เนื่องจากห้องพักอาจารย์ในปัจจุบันเป็นห้องเปิด (Open-Plan) ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิห้องให้เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้งานทุกคนได้

 

บทวิเคราะห์

            1) การให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในต่อคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                การออกแบบครั้งนี้เป็นการมอบหมายงานจากทางกรรมการฝ่ายพัฒนากายภาพให้ออกแบบพื้นที่ดังกล่าว มีขอบเขตุของการทำงานคือออกแบบ เขียนแบบก่อสร้าง และประมาณราคากลางเพื่อเปิดประมูลในระบบ E-Bidding ในแผนงานขั้นต้นผู้ออกแบบมีเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณ 20 วันทำการตั้งแต่ทำแบบร่าง พัฒนาแบบ เขียนแบบก่อสร้าง และจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ ( BOQ) แต่ใช้เวลาในการออกแบบจริง 26 วันทำการ ขั้นตอนการดำเนินงานและอุปสรรคในการทำงานมีดังต่อไปนี้

                ก่อนที่จะได้รับมอบหมายออกแบบผู้ออกแบบได้แจ้งต่อผู้บริหารว่าระยะเวลาที่มีค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงขอตกลงว่าภายในกระบวนการออกแบบจะไม่จัดทำภาพ 3 มิติ เพื่อกระชับเวลาในการออกแบบ เนื่องจากผู้ออกแบบเห็นว่าผู้รับบริการมีความรู้ความเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมดีแล้ว และสามารถจินตนาการภาพที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับดี จึงเห็นว่าขั้นตอนการจัดทำภาพ 3 มิติ สามารถล้นเวลาการทำงานให้อยู่ในกรอบเวลาที่กำหนดได้

                ขั้นตอนการทำแบบร่างผู้ออกแบบเข้าพบผู้บริหาร เพื่อรับแนวทางและข้อมูลเพื่อใช้ออกแบบเบื้องต้น ในขั้นตอนนี้ได้กำหนดจำนวนผู้ใช้งานเดิมและเผือแนวโน้มที่จะขยายตัวไว้ในอนาคตด้วย ผู้ออกแบบใช้การจดบันทึกลงบนแบบร่าง เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกับขนาดของพื้นที่ เบื้องต้นพบว่าความต้องการของพื้นที่และขนาดห้องมาความสอดคล้องกัน ผู้ออกแบบจึงดำเนินการพัฒนาแบบในขั้นตอนต่อไป

ภาพที่ 2.1 แสดงแบบร่างบันทึกข้อมูลสำหรับออกแบบเบื้องต้น

                การพัฒนาแบบใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ออกแบบได้เข้าพบผู้ใช้งานจริง สำรวจเครื่องเรือนเดิม สำรวจพื้นที่จริง และมีการประชุมกับผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ เพื่อให้การออกแบบเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อดำเนินการก่อสร้าง เมื่อได้รับความเห็นจากทุกฝ่ายผู้ออกแบบจึงดำเนินการจัดทำแบบก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป

ภาพที่ 2.2 แสดงแบบร่างและข้อมูลสำหรับพัฒนาแบบ

                ในการจัดทำแบบก่อสร้างผู้ออกแบบได้จ้างบุคคลภายนอกเพื่อจัดทำแบบก่อสร้างดังกล่าวพร้อมกับการออกแบบงานระบบไฟฟ้าและระดับป้องกันไฟไหม้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรควบคุม ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลานานกว่าที่ผู้ออกแบบได้ประเมิณไว้ เนื่องจากมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกและการลงนามรับรองแบบก่อสร้าง ทำให้ผู้ออกแบบต้องเริ่มประมาณราคากลางในขณะที่แบบก่อสร้างยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การประมาณราคาต้องได้รับการแก้ไขมากกว่าที่ได้วางแผนไว้

                การจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ส่งให้แก่คณะกรรมตรวจรับแบบ ผู้ออกแบบใช้ข้อมูลราคาอ้างอิงจากกรมบัญชีกลางและใช้ราคาท้องตลาดบางส่วน เพื่อหาราคาเทียบเท่าของวัสดุ สรุปราคาอยู่ภายใต้งบประมาณของที่ทางคณะจัดไว้

                สรุปแล้วการให้บริการออกแบบห้องพักอาจารย์เป็นไปได้ด้วยดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จัดทำภาพ 3 มิติก็ตาม แต่ผู้รับบริการมีความรู้และความเข้าใจทำให้ลดเวลาในการดำเนินงานไปได้ จะสังเกตได้ว่าการให้บริการโดยเลือกใช้สื่อในการนำเสนอต่อผู้รับบริการเป็นสิ่งที่สามารถเลือกปฏิบัติได้ถ้าตกลงกันไว้ก่อน ก็ยังถือว่าเป็นการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ

            2) การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในโครงการ

                ในการออกแบบผู้ออกแบบใช้การวิเคราะห์ผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยมีแนวทางการออกแบบตามความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

                ผู้ใช้งานหลักภายในโครงการประกอบด้วย อาจารย์สาขา DBTM พนักงานสาขา DBTM อาจารย์ชาวต่างชาติสัญญาระยะสั้น และหน่วยงาน CIDAR, TDC ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะสถาปัตยกรรม จะเห็นได้ว่าผู้ใช้งานมีความหลากหลายทั้งด้านช่วงอายุ วิธีการทำงาน และเชื่อชาติแตกต่างกัน รายละเอียดของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มมีดังต่อไปนี้

                อาจารย์สาขา DBTM เป็นอาจารย์ประจำซึ่งประกอบด้วยชาวต่างชาติและคนไทย มีหัวหน้าภาควิชา 1 คน จากการสัมภาษณ์และสังเกตุพฤติกรรมของผู้ใช้งานพบว่าผู้ใช้งานส่วนมากใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพาในการทำงาน และมีสัมภาระเป็นกระเป๋าสะพาย ของที่อยู่บนโต๊ะมีปริมาณที่ไม่เยอะ เพราะการเรียนการสอนเป็นแบบการบรรยายเป็นหลัก จึงไม่มีแบบที่เป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่มากนัก การติดต่อสื่อสารกับภายนอกและภายในองค์กรไม่มีประเด็นสำหรับการออกแบบ

                พนักงานสาขา DBTM มีหน้าที่ทำงานที่เกี่ยวกับเอกสารของสาขาวิชา และต้องติดต่อกับนักศึกษาอยู่บ้อยครั้ง จากการสำรวจพื้นที่การใช้งานเดิมพบว่ามีเอกสารจำนวนมากที่ยังไม่ถูกเก็บให้เป็นระเบียบ อุปกรณ์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นคอมพิวเตอร์สำนักงานแบบตั้งโต๊ะและเครื่องพิมพ์เอกสาร รวมถึงต้องใช้โทรศัพท์ในการติดต่อการหน่วยงานภายนอกบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงต้องออกแบบระบบสื่อสารให้ทั่วถึงส่วนที่ทำงานของพนักงาน

                อาจารย์ชาวต่างชาติสัญญาระยะสั้นเป็นอาจารย์ในโครงการความร่วมมือระหว่างมหาลัยในต่างประเทศ ดังนั้นอาจารย์กลุ่มนี้จะเข้ามาใช้พื้นที่เพียงชั่วคราว ในปัจจุบันให้ใช้ห้องพักอาจารย์ร่วมกับอาจารย์ประจำ ส่วนลักษณะในการทำงานไม่ต่างจากอาจารย์ประจำ แต่ต้องการความคล่องตัวมากกว่าในกรณีที่ต้องย้ายออกหรือหมดสัญญา

                หน่วยงาน CIDAR, TDC เป็นหน่วยงานย่อยของคณะสถาปัตยกรรมฯ มีหน้าที่หลักคือบริการสังคม เช่น ออกแบบอาคารให้แก่หน่วยงานของรัฐ จัดงานประชุมสัมมนาเผยแพร่ความรู้ทางสถาปัตยกรรม หรือหลักสูตรอบรมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นต้น จึงทำให้ต้องติดต่อกับคนภายนอกองค์กรเป็นหลัก

                ผู้ใช้งานรองได้แก่นักศึกษาหรือผู้มาติดต่อหน่วยงาน โดยปกติแล้วถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เข้ามาในพื้นที่ไม่บ่อยนัก แต่จัดวางพื้นที่สำหรับติดต่อให้เข้าถึงได้ก่อนการใช้งานอื่น

                แนวคิดในการวางผังโดยรวมแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก้ ห้องพักอาจารย์ DBTM ห้องพักอาจารย์นานาชาติ และห้องหน่วยงานย่อย CIDAR, TDC ทั้ง 3 ส่วนงานมีความสัมพันธ์กันและต้องติดต่อกันอยู่บ้างเนื่องจากอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีสัญญาระยะสั้นจะสอนให้กับภาควิชา DBTM ส่วนหน่วยงาน TDC ณ ปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวของกับภาควิชา DBTM ทำให้พื้นที่ทั้ง 3 ต้องมีทางเดินที่เข้าถึงกันได้ รายละเอียดในการออกแบบพื้นที่แต่ละส่วนมีดังต่อไปนี้

                ห้องพักอาจารย์ DBTM มีอาจารย์ทั้งหมด 10 ท่าน และพนักงาน 4 ตำแหน่ง พื้นที่ใช้งานภายในส่วนนี้ประกอบด้วย พื้นต้อนรับ ห้องประชุม สำนักงานส่วนพนักงาน ห้องหัวหน้าภาควิชา และห้องวางเครื่องพิมพ์เอกสาร การจัดวางตำแหน่งการใช้งานคำนึงถึงการใช้งานระหว่างพื้นที่เป็นหลัก โดยเริ่มจากส่วนที่เป็นพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่พักคอยสำหรับบุคคลภายนอกติดต่อกับภาควิชา พื้นที่กึ่งสาธารณะคือห้องประชุม ที่เปิดให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถจองใช้งานได้ พื้นที่ที่จัดว่าเป็ฯพื้นที่ส่วนตัวของภาคได้แก่ส่วนสำนักงานและห้องวางเครื่องพิมพ์เอกสาร

                ห้องพักอาจารย์นานาชาติ (International Office) ถูกวางแนวคิดให้ใช้เหมือนพื้นที่ทำงานร่วม (Coworking Space) เนื่องจากอาจารย์ที่ใช้ห้องนี้จะมีสัญญาที่เป็นลักษณะชั่วคราว จึงจัดให้มีโต๊ะทำงานร่วมกัน และแบ่งเป็นห้องส่วนตัวขนาดเล็กสำหรับการใช้งานแบบชั่วคราว ส่วนอุปกรร์สำนักงานต่าง ๆ สามารถใช้ร่วมกับภาควิชา DBTM ได้เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่สอนในภาควิชา DBTM และมีทางเดินให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายเพื่อความสะดวกในการวางแผนการสอนร่วมก

ภาพที่ 3.1 แสดงผังพื้นห้องพักอาจารย์ DBTM และหน่วยงาน CIDAR, TDC

                ห้องหน่วยงาน CIDAR, TDC เป็นหน่วยงานอิสระ มีลักษณะการทำงานที่เน้นการติดต่อประสานงานและออกแบบในบางส่วน จากการสำรวจพบว่ามีเอกสารที่ต้องเก็บเป็นจำนวนมากจึงใช้พื้นที่ห้องพิมพ์เอกสารเป็นห้องเก็บเอกสารไปด้วย หากมีกิจกรรมที่ต้องการพื้นที่สำหรับประชุมสามารถใช้ห้องประชุมที่อยู่ในบริเวณของ DBTM ได้

                แบ่งสัดส่วนชัดเจนเป็นแนวคิดที่ได้มาจากการใช้งานร่วมกันของผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่เดิมการออกแบบห้องพักอาจารย์ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะจัดให้อยู่รูปแบบที่เปิดโล่ง (Open-plan) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการรบกวนกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิห้อง เสียงรบกวน หรือการรบกวนทางการมองเห้น ผู้ออกแบบจึงเห็นความสำคัญของการให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ใช้งาน แต่อย่างไรก็ดีการที่แบ่งห้องให้ได้ 1 ห้องต่อคนก็ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีพื้นที่ที่จำกัด ผู้ออกแบบใช้การจัดวางแบบประณีประนอม คือแบ่งให้เป็นห้องแต่ลดจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่ในห้องเดียวกันลง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกและจัดสรรการกลุ่มการใช้งานตามที่ต้องการได้ เช่น ชาวต่างชาติสามารถอยู่ร่วมกันในห้องที่ปรับอุณหภูมิเหมาะสม หรือสามารถจัดกลุ่มอาจารย์ที่ต้องการเข้าสังคมให้อยู่ร่วมกันได้เพื่อให้ไม่เกิดเสียงรบกวนต่อผู้ใช้งานท่านอื่นที่ต้องการความสงบ

                จึงสังเกตได้ว่าพื้นที่ภายในจะต้องถูกแบ่งออกด้วยผนังเบาและแยกระบบทำความเย็นออกจากกันโดยสิ้นเชิงเพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่ต่างกันของผู้ใช้งานที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของตนได้

 

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

                จากการออกแบบห้องพักอาจารย์ DBTM, CIDAT, TDC และ Visiting Professor ทำให้ผู้ออกแบบได้พบว่าการออกแบบไม่จำเป็นต้องใช้สื่อนำเสนอภาพสามมิติเสมอไป ถ้าผู้รับบริการมีความเข้าใจต่องานสถาปัตยกรรมดีและไม่ถือว่าเป็นการให้บริการที่ด้อยกว่ามาตรฐานวิชาชีพเนื่องจากได้ทำความเข้าใจกันก่อนที่จะเริ่มดำเนินการออกแบบ

                การแบ่งพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกในการควบคุมสภาพแวดล้อมของตนทำให้ผู้ใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม การแยกระบบทำความเย็นจะต้องใช้พื้นที่สำหรับวางคอยล์ร้อน (Condensing Unit) มากกว่าปกติ ถ้าหากไม่มีพื้นที่ระเบียงที่เพียงพออาจจะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ในระบบที่มีขนาดเล็กและข้อจำกัดด้านงบประมาณ

                และการแบ่งห้องด้วยผนังเบาทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือขยับขยายได้ยากกว่าการจัดเป็นห้องที่เปิดโล่ง ถ้าหากอยู่ในหน่วยงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดว่าอาจจะไม่เหมาสมนัก

                แต่อย่างไรก็ตาม บทความนี้ถูกจัดทำในระหว่างการก่อสร้างและอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หากต้องการวัดผลสำฤทธิ์จากการออกแบบครั้งนี้ควรทำการประเมิณหลังการใช้งานอีกครั้ง