โครงการออกแบบปรับปรุงบูรณะอนุสรณ์สถาน ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ที่มาของงานออกแบบ :
โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรม “100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลวังตะเคียนที่นำโดยท่านปลัดเทศบาล นายจักรวาล ภูพงษ์พานิช ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำโดยท่านผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้อำนวยการสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ นายอุดมศิลป์ เหมสถาปัตย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง โดยมีผู้ช่วยศาตราจารย์เอนก สุวรรณชัยสกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผน (ผู้ออกแบบโครงการบูรณะฟื้นฟู อนุสรณ์สถานฯ เดิม ปี พ.ศ. 2558) ให้เป็นหัวหน้าโครงการ ออกแบบบูรณะฟื้นฟูอนุสรณ์สถานฯ ณ บ้านวังน้ำขาว ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ใหม่ทั้งหมดแทนที่อนุสรณ์สถานฯ เดิมที่ออกแบบแล้วเสร็จ ให้เป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์รวมของชุมชน เพื่อยกย่องเกียรติบุคคลสำคัญของโลก ที่ดำรงคุณงามความดีในฐานะ ผู้สร้างคุณูการอย่างยิ่งให้แก่มหาวิทยาลัยและสังคมไทย และเป็นต้นแบบความเสียสละ ความซื่อสัตย์สุจริต และทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยงบประมาณมูลค่าการพัฒนา 5 ล้านบาท เพื่อเชิดชูเกียรติคุณงามความดีของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะ “วีรบุรุษวังน้ำขาว”
วีรบุรุษวังน้ำขาว :
14 มีนาคม ของทุกปี ชุมชนบ้านวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จะรวมตัวกันรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2487 เมื่อร้อยตรีเข้ม เย็นยิ่ง ทหารขบวนการเสรีไทยนายหนึ่งได้ลอบเข้าประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจในการส่งข่าวของฝ่ายพันธมิตรอังกฤษด้วยการกระโดดร่มลงพื้นที่ป่าเขาน้อย บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท แต่ในการปฏิบัติภารกิจครั้งนั้นกลับกองตำรวจสันติบาลไทยเข้าทำการจับกุมตัว และระหว่างที่จะถูกสังหารในที่เกิดเหตุในฐานะ “กบฏ” ได้มีลุงท่านหนึ่ง “นายทำ ปานแก้ว” ชาวบ้านวังน้ำขาวได้เข้าช่วยเหลือเกลี้ยกล่อมเจ้าหน้าที่ให้ไว้ชีวิตพลทหารผู้นั้น โดนเสนอให้นำตัวมาล่ามโซ่คุมขังไว้ที่ใต้ถุนศาลาวัดวังน้ำขาวเป็นเวลาหลายวัน ก่อนจะส่งให้ทางการต่อไป
20 ปีต่อมา... ได้มีชายหนุ่มรูปร่างภูมิฐานผู้หนึ่งเดินทางเข้ามายังพื้นที่บ้านวังน้ำขาว เพื่อตามหา “ลุงทำ ปานแก้ว” และเมื่อถึงคราวพบหน้า “ลุงทำ” ก็ได้รู้ได้ทันทีว่า พลทหารที่ลุงได้เคยช่วยชีวิตในครั้งนั้น บัดนี้ได้เป็นเจ้าของลายเซ็นในธนบัตรที่ลุงใช้ทุกวัน “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” และด้วยเกียรติคุณความดีนานาประการที่ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้มอบให้แก่สังคม จนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยกย่องจากชาวบ้านวังน้ำขาวให้เป็น “วีรบุรุษวังน้ำขาว” ตราบจนทุกวันนี้....
ภาพ อนุสาวรีย์ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเสาไม้ที่ถูกมัดไว้เมื่อครั้งถูกจับในฐานะเสรีไทย ณ บ้านวังน้ำขาว
ลำดับเหตุการณ์ ความเป็นมาของโครงการ :
พ.ศ. 2558 :
ปีแห่งการครบรอบเหตุการณ์สำคัญของบุคคลสำคัญของประเทศ “100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญยิ่งของบูรพาจารย์ที่ได้สร้างคุณงามความดีแก่มหาวิทยาลัย และสังคมไทยนานัปการ จนกลายเป็นต้นแบบแห่งบุคคลที่เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต และเพื่อสืบสานปณิธานของท่านให้คงอยู่ต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้มีแนวคิด “บูรณะฟื้นฟู อาคารอนุสรณ์สถาน ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ณ บ้านวังน้ำขาว ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ที่ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและเยาวชน เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติของท่านให้คงอยู่ และเป็นต้นแบบให้กับสังคมต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2558 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก สุวรรณชัยสกุล และคณะกรรมการนักศึกษาคณะฯ ได้ดำเนินการออกแบบโครงการบูรณะฟื้นฟู อนุสรณสถานฯ แล้วเสร็จและนำเสนอต่อชาวบ้านชุมชนหนองมะโมง นายกเทศบาลตำบลหนองมะโมง และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ โดยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2558 ในมูลค่าการก่อสร้าง 3 ล้านบาท
ภาพ ตัวอย่าง ผลงานการออกแบบ โครงการบูรณะฟื้นฟู: อนุสรณ์สถาน ศาตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปี พ.ศ. 2558
ภาพ บรรยายกาศ การนำเสนอผลงาน แก่ชุมชนเทศบาลวังตะเคียน ณ ปี พ.ศ. 2558 ภาพ บรรยากาศ การนำเสนอผลงาน แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ณ ปี พ.ศ. 2558
พ.ศ. 2561 :
ชุมชนบ้านวังน้ำขาว และเทศบาลตำบลวังตะเคียนได้มีแนวคิดต้องการพัฒนาอนุสรณ์สถานฯ ใหม่แทนที่อนุสรณ์สถานเดิมที่ได้ออกแบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 โดยเสนอให้ผู้ออกแบบเดิมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบอนุสรณ์สถานหลังใหม่นี้ และกำหนดให้อาคารอนุสรณ์สถานฯ แห่งใหม่มีความทันสมัยรองรับการใช้งานของชุมชน และการเยี่ยมชมของนักเรียนนักศึกษาจากภายนอกเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าการก่อสร้างที่ 5 ล้านบาท โดยในช่วงปี พ.ศ. 2558-2561 ชาวบ้านแห่งชุมชนบ้านวังน้ำขาว และเทศบาล ได้มีการระดมทุนภายในชุมชนมาปรับปรุงสภาพกายภาพอนุสรณ์สถานฯ และภูมิทัศน์โดยรอบตามงบประมาณ
ภาพ มุมมองจากหน้าอนุสรณ์สถานฯ แสดงบรรยากาศโดยรอบ (ถ่ายวันที่ พฤศจิกายน 2561)
ภาพ บรรยากาศการรับฟังความคิืดเห็น และการมีส่วนร่วมของชุมชน
รายละเอียดโครงการ :
ที่ตั้งโครงการ :
อนุสรณ์สถาน ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เดิมตั้งอยู่ที่วัดวังน้ำขาวหรือสถานที่ที่ร้อยตรีเข้ม เย็นยิ่ง ถูกลามโซ่ไว้ที่เสาใต้ถุนศาลาวัดโดยมีอนุสาวรีย์รูปเหมือนเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นเมื่อทำการรื้อถอนศาลาวัดเก่าทิ้ง ชาวบ้านได้ย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าวพร้อมต้นเสาที่อาจารย์ป๋วย ถูกมัดไว้มาคู่กัน โดยนำมาตั้งไว้ในพื้นที่ว่างของโรงเรียนบ้านวังน้ำขาว ติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดวังน้ำขาว สามารถเข้าถึงได้จากทางเข้าจังหวัดชัยนาทจากถนนทางหลวงหมายเลข 1 ตรงมาตามเส้นทางถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3213 ประมาณ 40 กิโลเมตร พื้นที่โครงการเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมพื้นผ้าหน้าแคบ และมีอาณาเขตโดยรอบดังนี้
ทิศเหนือ (ด้านหน้าโครงการ) ติดกับถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3213
ทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่อเนกประสงค์ เป็นลานว่างของโรงเรียนบ้านวังน้ำขาว
ทิศใต้ ติดกับพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ของโรงเรียนวัดวังน้ำขาว
ทิศตะวันตก ติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดวังน้ำขาว
ภาพถ่ายทางอากาศ แสงดำแหน่งที่ตั้งโครงการ และความสัมพันธ์โดยรอบ
แนวความคิดในการออกแบบ :
จากตำแหน่งที่ตั้งของอนุสรณ์สถานเดิมที่ศาลาวัดของวัดวังน้ำขาวสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่อยู่ในบริเวณที่ระยะทางสามารถเดินเท้าและมองเห็นกันได้ในระยะสายตา จึงเกิดแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์ จากสถานที่จริงในสถานที่เดิม สู่สถานที่ตั้งอนุสรณ์สถานใหม่โดยให้ตัวอนุสรณ์สถานเองเป็นตัวเล่าเรื่องความเชื่อมโยงผ่านการออกแบบ ด้วยการกำหนดแกนเพื่อเปิดมุมมองและสร้างเส้นนำสายตาตามแนวแกนที่เชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดเรื่องราวประวัต์ศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์และเป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งในด้านของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และสถานที่จริง
ภาพแสดงการจำลอง แนวคิดการออกแบบอนุสรณ์สถานฯ ที่สัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์
ด้วยแนวคิดการสร้างแนวแกนให้กับอนุสรณ์สถานฯ ที่สะท้อนเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของ “ร้อยตรีเข้ม เย็นยิ่ง” ที่ถูกจับและมัดที่ฐานเสาศาลาวัดวังน้ำขาว เป็นประเด็นใหม่ที่ได้เพิ่มเติมแทนอนุสรณ์สถานฯ ที่ออกแบบไปแล้วเสร็จเมื่อครั้ง พ.ศ. 2558 เพราะด้วยปัจจัยด้านงบประมาณที่ได้รับมากขึ้นทำให้สามารถเพิ่มคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์สถานที่เข้าไปในโครงการได้มากกว่าครั้งก่อนที่ต้องเน้นความจำเป็นพื้นฐานเป็นสำคัญ
การจัดวางผังกลุ่มอาคาร :
การออกแบบเน้นการใช้พื้นที่ให้มีความหลากหลาย โดยแบ่งได้ดังนี้
ลานอนุสาวรีย์ :
เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ของ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยพื้นที่ส่วนนี้ออกแบบเป็นลานรูปวงกลม ล้อมด้วยกำแพง ครึ่งวงกลมเพื่อเปิดมุมมองจากถนน และนำสายตาไปสู่ศาลาวัดวัดวังนํ้าขาว สถานที่ “ร้อยตรีเข้ม เย็นยิ่ง” ถูกล่ามไว้กับเสาศาลาวัด
เสาไม้อนุสรณ์และลานนิทรรศการกลางแจ้ง :
กำหนดพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องตามแนวแกนเดียวกันกับอนุสาวรีย์ ศาลาวัดวังน้ำขาวและเสาไม้อนุสรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในเรื่องราวกับพื้นที่ประวัติศาสตร์กับอนุสรณ์สถาน โดยได้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งเสาไม้ในปัจจุบันไปอยู่ในแนวแกนของเรื่องราวที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และพื้นที่ดังกล่าวได้ออกแบบให้รองรับการใช้งานในพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการกลางแจ้ง ในโอกาสต่าง ๆ ของชุมชนและโรงเรียนต่อไป
อาคารนิทรรศการ :
เป็นการนำอาคารอนุสรณ์สถานฯ หลังเดิมที่ผนังอาคารสร้างขึ้นด้วยผนังดินเหนียวชั้นเดียวโดยชาวบ้านวังน้ำขาว โดยได้ปรับปรุงเพิ่มความแข็งแรง เพื่อใช้เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการ และระลึกถึงความร่วมใจกันของชาวบ้านวังน้ำขาวและความผูกพันที่มีต่อ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อาคารอเนกประสงค์และกิจกรรมในร่ม :
เป็นอาคารส่วนที่ออกแบบใหม่ให้เป็นอาคารโถงที่ต่อเนื่องกับอาคารนิทรรศการเดิม และสามารถเชื่อมต่อกับลานกิจกรรมกลางแจ้งได้ โดยพื้นที่นี้สามารถรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านวังน้ำขาวและพื้นที่ใกล้เคียงในการ ทำกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ทั้งด้านการฝีกอาชีพ การอบรม หรือการเรียนนอกสถานที่ของนักเรียนและเยาวชน เป็นต้น
อาคารร้านค้าชุมชน :
เป็นที่จัดแสดงและขายสินค้าที่โดนเด่นของชุมชน เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานฯ และผู้ที่สนใจทั่วไป
(บน) ภาพขยาย ลานเสาไม้อนุสรณ์และลานกิจกรรมกลางแจ้ง
(ล่าง) ภาพ แสดงลักษณะการจัดวางผัง และกลุ่มอาคาร
ภาพ แสดงผังพื้นการใช้งานโครงการ
ภาพ ทัศนียภาพจำลอง โดยรวมของโครงการ
วัตถุประสงค์ :
สถานที่ตั้งโครงการ :
บ้านวังน้ำขาว ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
ขนาดพื้นที่ใช้สอย :
พืื้นที่อาคารรวม 405 ตารางเมตร
ผู้ร่วมงานออกแบบ :
1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอนก สุวรรณชัยสกุล หัวหน้าโครงการ และสถาปนิก (สัดส่วนความรับผิดชอบงาน ร้อยละ 50)
2) คุณนิติ หาญสุนันทนนท์ สถาปนิก (สัดส่วนความรับผิดชอบงาน ร้อยละ 50)
งบประมาณ :
5,000,000 บาท
แบบขออนุญาตก่อสร้าง : (บางส่วน)