หลักเกณฑ์ในการออกแบบคลินิกทันตกรรม

ขั้นตอนแรกคือขั้นตอนการจัดทำโปรแกรมการออกแบบ (programming phase) ซึ่งได้มาจากเจ้าของโครงการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำการสรุปความต้องการขั้นต้น ประกอบไปด้วย

1. สถานที่ตั้ง ตัวอาคาร และขนาดพื้นที่ ที่จะทำการก่อสร้างหรือปรับปรุง

2. งบประมาณ

3. รูปแบบหรือสไตล์ที่ชอบ

4. ความต้องการและจำนวนผู้ใช้ (user requirements)

5. พื้นที่ใช้สอย (function) และขนาดพื้นที่ใช้สอย (area requirements) ที่เหมาะสม

6. การทำกรณีศึกษา (case study)

7. ข้อจำกัดต่างๆ ในงานออกแบบ (ถ้ามี) เช่น กรณีปรับปรุงอาคารเก่า หรือตำแหน่งของงานระบบประกอบอาคาร เป็นต้น

8. รายละเอียดวัสดุ และเฟอร์นิเจอร์ (material and furniture specification)

9. ระยะเวลาการทำงาน และกฎระเบียบต่างๆ ในการก่อสร้าง

10. ความสะอาด ความปลอดภัย และการดูแลรักษา

11. อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขอใบอนุญาติสถานประกอบการณ์ การบริหารจัดการ และการตลาด เป็นต้น

 

ความต้องการด้านพื้นที่ใช้สอย

คลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่แยกเป็น 3 โซนหลักๆ คือ (1) ส่วนต้อนรับและพักรอ (reception and waiting zone) (2) ส่วนตรวจรักษา / ห้องทำฟัน (treatment zone / dental unit) และ (3) ส่วนสนับสนุน (supporting zone) ซึ่งจะพิจารณาจากผู้ใช้สอยคลินิกโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ (1) คนไข้ (2) ทันตแพทย์ และ (3) ผู้ช่วยทันตแพทย์และเจ้าหน้าที่ เพราะมีผลกับขนาดพื้นที่ใช้สอยและเส้นทางสัญจร ซึ่งการกำหนดเส้นทางสัญจร (circulation) ต้องเป็นระเบียบมีแบบแผนและชัดเจน เพราะทุกยูนิตทำฟันต้องเข้าถึงได้สะดวก ซึ่งมีทั้งแบบเปิด (open plan) โดยทำเป็นฉากกั้นสูง 1.20-1.50 เมตร ไม่กั้นเป็นห้องแยก และแบบปิด (closed plan) สำหรับยูนิตทำฟันพิเศษที่ต้องการความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่คอยสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ เช่น ห้องจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ (supply) ห้องล้างเครื่องมือ ห้องเอกซ์เรย์ที่ต้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกยูนิตทำฟัน รวมทั้งพื้นที่สำหรับเก็บเครื่องมือสกปรกและพื้นที่สะอาดที่ต้องแยกจากกัน เป็นต้น

 

โซน (1) ส่วนต้อนรับและพักรอ

ต้องพิจารณาจากจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับการตรวจรักษา ซึ่งจะสอดคล้องกับจำนวนยูนิตทำฟันของคลินิกนั้นๆ ประกอบด้วยเคาน์เตอร์และที่นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่ต้อนรับ สำหรับให้บริการติดต่อสอบถามและเก็บบันทึกประวัติ มีการทำนัดหมายคนไข้ จ่ายยา และเก็บเงินค่ารักษา อาจมีห้องทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อความเป็นสัดส่วน มีที่จัดเก็บเอกสาร มีตู้เก็บเวชระเบียนสำหรับใส่บัตรคนไข้ และเก็บยาบางส่วน โดยเคาน์เตอร์ต้อนรับนี้สามารถติดต่อกับห้องทำฟันของทันตแพทย์ได้โดยตรง หรือโดยอ้อมจากระบบอินเตอร์คอม (intercom)

บรรยากาศภายในส่วนพักรอควรทำให้รู้สึกถึงความสงบ สบาย ผ่อนคลาย อาจมีมุมอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ดูทีวี และหรือมีเครื่องดื่มให้บริการระหว่างพักรอ พื้นที่ส่วนนี้ควรมีห้องนํ้าสำหรับคนไข้ด้วย โดยขนาดพื้นที่สำหรับนั่งพักรอจะใช้ประมาณคนละประมาณ 0.50 x 1.00 เมตร หรือ 0.50 ตารางเมตรเป็นอย่างน้อย โดยการจัดระบบที่นั่งและจัดเรียงเก้าอี้พักรอ (seating arrangement) มีความสำคัญกับการวางแปลน (space planning) มาก เพราะต้องสามารถใช้พื้นที่ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ทำให้รู้สึกแออัดจนเกินไป ถ้าหากมีพื้นที่เพียงพอไม่ควรจัดเรียงแถวแบบในโรงพยาบาล โดยขนาดพื้นที่จะขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้ โดยส่วนมากคนไข้ที่มาทำฟัน 1 คน มักมีผู้ติดตามมาด้วยอีก 1-2 คน ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจทำฟันของคนไข้ จึงไม่ควรจัดที่นั่งพักรออยู่ชิดกันเกินไปเพราะจะทำให้คนไข้ที่ไม่รู้จักกันต้องนั่งติดกันอาจทำให้รู้สึกอัดอัด เพราะบรรยากาศส่วนนี้เป็นหน้าเป็นตาของคลินิกจึงควรสร้างความประทับใจและความไว้วางใจในบริการของทันตแพทย์ได้เป็นอันดับแรก

 

โซน (2) ส่วนตรวจรักษา / ห้องทำฟัน

เป็นบริเวณสำหรับติดตั้งยูนิตทำฟันประกอบไปด้วย (1) เก้าอี้ทำฟัน (dental chair) (2) เก้าอี้ทันตแพทย์ (3) เก้าอี้ผู้ช่วยทันตแพทย์ (4) เคาน์เตอรป์ฏิบัติการติดผนังพร้อมชุดตู้ลอยเก็บของ อาจมีโต๊ะทำงานของทันตแพทย์หรือเคาน์เตอร์เพื่อใช้ในการบันทึกประวัติคนไข้ โดยเคาน์เตอร์นี้ใช้สำหรับวางเครื่องมือและเตรียมอุปกรณ์ในการตรวจรักษา ต้องมีอ่างล้างมือและล้างอุปกรณ์ด้วย ซึ่งลักษณะการทำงานของทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์จะมีรูปแบบและตำแหน่งที่ตายตัว ส่วนใหญ่เก้าอี้ของทันตแพทย์จะอยู่ด้านขวามือ ส่วนผู้ช่วยทันตแพทย์อยู่ด้านซ้ายมือของคนไข้ การวางแปลนในส่วนนี้ต้องเข้าใจเส้นทางสัญจร โดยพิจารณาตำแหน่งการจัดวางเก้าอี้ของทันตแพทย์และทิศทางการเดินเข้าถึงยูนิตทำฟันของคนไข้เป็นหลัก

การออกแบบวางแปลนส่วนตรวจรักษา ต้องศึกษาขนาดและระยะของยูนิตทำฟันจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและรุ่นที่ผลิต โดยยูนิตทำฟันต้องขนาดมาตรฐานตามสัดส่วนของมนุษย์และได้รับการออกแบบให้รองรับสรีระของคนไข้ได้ดี ซึ่งแต่ละยูนิตทำฟันจะมีขนาดความต้องการด้านพื้นที่เฉพาะตัว และมีระยะน้อยที่สุดสำหรับการปฏิบัติงานทันตกรรมที่สะดวก

 

โซน (3) ส่วนสนับสนุน

เป็นส่วนสำคัญของคลินิกทันตกรรมเพราะตำแหน่งห้องเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การจัดเรียงอุปกรณ์ เครื่องล้างอบฆ่าเชื้อ การจัดเก็บ และจัดเตรียมเครื่องมือ มีขั้นตอนที่เป็นระบบชัดเจน ซึ่งจะต้องถูกหลักสุขอนามัย

ส่วนสนับสนุนได้แก่ (1) ห้องล้างเครื่องมือ (sterilization room) (2) ห้องเตรียมและเก็บเครื่องมือทำฟัน (supply room) (3) ตู้อบฆ่าเชื้อเครื่องมือ (autoclave) (4) ห้องเอกซ์เรย์ (5) ห้องพักทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ (staff lounge) (6) ห้องนํ้า (7) ห้องเก็บของ ซึ่งบางคลินิกอาจต้องการ (8) ห้องปฏิบัติการ (lab) ด้วย เพราะโดยทั่วไปนิยมส่งไปห้องปฏิบัติการภายนอก (Malkin, 2002) ในส่วนนี้ยังหมายความรวมถึง (9) ห้องเครื่องต่างๆ (mechanical equipment room) ได้แก่ เครื่องปั๊มลม เครื่องปั๊มนํ้าระบบสุญญากาศ (vacuum) เครื่องอัดอากาศความดันสูง (compressed air) โดยขนาดของห้องเครื่องขึ้นกับจำนวนยูนิตทำฟัน ถ้ามีจำนวนมากขนาดเครื่องต่างๆ ก็ต้องใหญ่ขึ้นและต้องการพื้นที่จัดเก็บเครื่องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งในการวางแปลนยังต้องคำนึงถึงเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากเครื่องเหล่านี้ด้วย

 

ห้องล้างเครื่องมือ

เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากอีกส่วนในคลินิกทันตกรรม มีรายละเอียดและขั้นตอนการทำงานดังภาพที่ 4 และ 5 โดยเรียงตามลำดับดังนี้ (1) ถาดใส่อุปกรณ์และเครื่องมือทำฟันที่สกปรก (2) ถังขยะที่แยกขยะติดเชื้อและขยะเปียกแห้ง (3) อ่างหรือซิงค์นํ้าแบบสองหลุม โดยหลุมแรกสำหรับแช่เครื่องมือทำฟัน ส่วนอีกหลุมสำหรับล้างเครื่องมือ (4) เครื่องล้างอุปกรณ์ (5) เครื่องอบฆ่าเชื้อ หรือเครื่องล้างแบบ dry heat sterilizer พร้อมที่ดูดควันเหนือตู้ และลำดับสุดท้ายคือ (6) ตู้สำหรับเก็บอุปกรณ์ที่ฆ่าเชื้อแล้ว (Design Ergonomics, Inc., 2011: online)

อุปกรณ์ล้างเครื่องมือทำฟันเหล่านี้ มีขนาดไม่ใหญ่มากจึงสามารถวางบนเคาน์เตอร์ขนาดประมาณ 2.50-3.00 เมตร ความกว้าง 0.60 เมตรได้ การจัดเรียงลำดับต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดเก็บเครื่องมือทำฟัน ต้องมองเห็น (visible) และเข้าถึงได้ (accessible) จัดเป็นระบบระเบียบ (organized) เพราะเครื่องมือทำฟันมีขนาดค่อนข้างเล็ก (Design Ergonomics, Inc., 2011: online)

 

ห้องเอกซ์เรย์ (x-ray room)

ต้องตรวจสอบรูปแบบ ขนาด และระยะของเครื่องเอกซ์เรย์ที่จะใช้ในคลินิกก่อนการวางแปลน ห้องเอกซ์เรย์มักจัดให้มีขนาดที่พอดีกับการใช้งานเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นเพียงพอต่อความต้องการ เครื่องมือเอกซ์เรย์มีรูปแบบแตกต่างกันทั้งแบบเคลื่อนที่ได้และแบบติดผนัง แบบมีเก้าอี้นั่งติดมากับชุดเอกซ์เรย์ และมีทั้งแบบฟิล์มและดิจิทัล

โดยตำแหน่งในการวางแปลนไม่ควรไกลจากยูนิตทำฟันแต่ละห้องจนเกินไป การออกแบบต้องระมัดระวังรังสีที่แผ่ออกมาจากตัวเครื่อง วิธีป้องกันคือต้องทำประตูและผนังห้องให้ป้องกันรังสีได้ตามมาตรฐาน มีการกรุแผ่นตะกั่วหนาอย่างน้อย 2 มม. และเลือกใช้วัสดุผนังเป็นแบบก่ออิฐมอญไม่ใช่ผนังเบาหรืออิฐมวลเบาเพราะวัสดุดังกล่าวไม่สามารถป้องกันรังสีได้

 

ความต้องการของผู้ใช้สถานที่

สำหรับคลินิกทันตกรรมทั่วไป ประกอบด้วยบุคคล 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อยคือ (1) กลุ่มคนไข้ (2) ทันตแพทย์ และ (3) ผู้ช่วยทันตแพทย์ เส้นทางการเข้าถึงพื้นที่แต่ละส่วนต้องพิจารณาให้ผู้ใช้สอยเหล่านี้สามารถเข้าไปใช้สอยได้โดยสะดวก

 

แนวความคิดในการออกแบบ

คลินิกพิเศษเป็นคลินิกนอกเวลาราชการ พื้นที่ประมาณ 700 ตารางเมตร มียูนิตทำฟันทั้งหมด 18 ยูนิต สถาปนิกออกแบบภายในให้มีบรรยากาศเหมือนกับ Lobby ของโรงแรมเพื่อให้มีความรู้สึกผ่อนคลายแต่ก็ยังมีความเป็นทางการอยู่บ้างเล็กน้อย โทนสีที่ใช้เป็นโทนเย็นเป็นหลัก เช่น สีครีม สีขาว สีม่วงอ่อน และสีไม้ เป็นต้น